Ads

Loading

อุตสาหกรรมจับมือพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยกระดับ 10 SME สามจังหวัดชายแดนใต้สู่ Smart SME หลังปรับปรุงธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และลดต้นทุนการผลิตรวมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาทต่อปี

        เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คัดเลือก 10 ผู้ประกอบการจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนา SME เป็น smart SME และยกระดับ SME ให้ก้าวสู่ 4.0 หลังผ่านการอบรมในสามหลักสูตรเข้มข้น สามารถปรับปรุงธุรกิจ เสริมความแกร่ง และลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มยอดขายได้ รวมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาทต่อปี

   นายคณบดี สัมพัชนี อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการ SME จำนวน 10 รายจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านระบบออนไลน์ ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิตนั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน พ.ศ. 2560-2565 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรขั้นต้น หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นต้น และเป็นผลิตภัณฑ์เดิมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ยังขาดการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดทำกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนา SME เป็น Smart SME และยกระดับ SME ให้ก้าวสู่ 4.0 ภายใต้โครงการเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการจากสามจังหวัดชายแดนใต้เข้ารับการบ่มเพาะฝึกอบรมในสามหลักสูตรหลักเพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart SME ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 รายนั้น หลังจากจบโครงการฯ พบว่าสามารถปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนสามารถลดต้นทุน หรือเพิ่มรายได้ รวมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาทต่อปี

  ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชัย รุ่งเรืองอนันต์ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เนื่องจากผู้ประกอบการในสามจังหวัดชายแดนใต้ส่วนมากยังคงประสบปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ การตลาด ระบบบัญชีและการเงิน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังคงเป็นรูปแบบเดิมที่ไม่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และยังขาดการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

            จังหวัดปัตตานีนั้น พบว่ามีสัดส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอยู่มากที่สุด จังหวัดยะลามีสัดส่วนของอุตสาหกรรมยางและอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารามากที่สุด และจังหวัดนราธิวาสมีสัดส่วนของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้มากที่สุด ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ หากได้รับการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็จะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการก้าวสู่การเป็น Smart SME ได้ ซึ่งโครงการนี้ฯ ได้มีการรับสมัครและคัดเลือกผู้ประอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ราย ได้แก่

1)ห้างหุ้นส่วนจำกัด โค้วน่ำฮึงสุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) 2)บริษัท บี แอนด์ เอ็ม โกลด์ ฟรุ๊ต จำกัด (จ.นราธิวาส)

3)บริษัท นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (จ.นราธิวาส) 4)บริษัท อาหารสำเร็จรูปสุไหงโก-ลก จำกัด (จ.นราธิวาส)

5)บายะเฟอร์นิเจอร์ (จ.นราธิวาส) 6)ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลียาฮาลาลฟู้ดส์ (จ.ปัตตานี)

7)บริษัท บ้านกล้วย(2017) จำกัด (จ.ปัตตานี) 8)บริษัท ปลาแห้ง ซามากุน จำกัด (จ.ปัตตานี)

9)ดี เดคคอร์ เฟอร์นิเจอร์ บิวอิน (จ.ปัตตานี) 10)บริษัท ตอยยีบัน ฟู้ดส์ จำกัด (จ.ยะลา)

            ผู้ประกอบการ SME ทั้ง 10 รายนี้ ได้ผ่านการอบรมในสามหลักสูตรเข้มข้นเพื่อพัฒนาเป็น Smart SME ทั้งการเรียนรู้ทักษะ Smart SME การดำเนินธุรกิจในระบบตลาดดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในเชิงการแข่งขัน ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น การจัดการต้นทุนพลังงานเพื่อเป็น Smart SME การใช้ Enterprise Resource Planning หรือ ERP เพื่อการจัดการอุตสาหกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น

            “ความสำเร็จของโครงการฯ นี้ คือเราสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ SME ทั้ง 10 ราย ให้สามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจ ทั้งในด้านการบริหารต้นทุน การบริหารงานด้วยเทคโนโลยี การบริหารคน ซึ่งช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้จนเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน และเราคาดหวังว่าผู้ประกอบการทั้งสิบรายนี้จะได้เป็นแบบอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่การเป็น Smart SME ที่สามารถแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้ต่อไป”

TT Ads

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *