Ads

Loading

รมช.กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง กระตุ้นสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด ลดการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (7 พ.ย.64) นายสาธิต ปิตุเตช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศด้วยมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ด้านการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง ที่เกาะเสม็ด ม.4 ต.เพ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เพื่อกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวนำร่อง เข้มมาตรการ COVID Free Setting โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้เน้น 4 หลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบวิถีใหม่ ได้แก่ 1) การฉีดวัคนให้ครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย 2) การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา 3) กิจการกิจกรรมเข้มมาตรการ COVID Free Setting และ 4) การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK โดยการลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่มีความพร้อม สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ จึงต้องเน้นย้ำให้สถานประกอบการบนเกาะเสม็ดที่ได้รับคำแนะนำจากกรมอนามัย จำนวน 92 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด 3 ด้าน ได้แก่ 1) COVID Free Environment สิ่งแวดล้อมปลอดภัย 2) COVID Free Personnel พนักงานปลอดภัย และ 3) COVID Free Customer ผู้ใช้บริการปลอดภัย
“ทั้งนี้ สถานประกอบการที่ยังไม่ได้ประเมินตามมาตรการ COVID Free Setting สามารถประเมินตนเองได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์stopcovid.anamai.moph.go.th

โดยทุกสถานประกอบการที่ประเมินผ่าน สามารถพิมพ์ใบรับรองผล เพื่อติดไว้หน้าร้าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ 1) ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus (TSC+) ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัดต้องประเมินตนเองตามมาตรการ TSC+ 2) ใบรับรอง COVID Free Setting (CES หรือ TSC2+) เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ หรือจังหวัดที่จะนำเอามาตรการไปปรับใช้ โดยให้สถานประกอบการเลือกประเมิน COVID Free Setting ซึ่งต้องผ่านการประเมิน TSC+ ก่อน เพื่อสามารถประเมิน COVID Free Setting ต่อไป และ 3) สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด ตามที่มีการแจ้งความประสงค์จากสถานประกอบการ
สำหรับช่องทางภาคประชาชนเพื่อประเมินสถานประกอบการ สามารถดำเนินการใน 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 สแกน QR Code ใน E-Certificate ของสถานประกอบการที่ไปใช้บริการ ช่องทางที่ 2 ประเมินผ่านทางเว็บไชต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย และ ช่องทางที่ 3 ประเมินผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ ผู้พิทักษ์อนามัย COVID Watch”

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID plus (TSC+) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการประเมินตนเองตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และ ไทยเซฟไทย เพื่อคัดกรองอาการเสี่ยงของโรคโควิด-19 พร้อมมีข้อแนะนำสำหรับการลดความเสี่ยงแต่ละระดับ โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 มีสถานประกอบการประเมินตนเองในระบU Thai Stop COVID Plus (TSC+) จำนวน 64,415 แห่ง ผ่านการประเมิน จำนวน 58,156 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.28 ประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting จำนวน 6,883 แห่ง ผ่านการประเมิน จำนวน 6,610 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.03 และมีการประเมินไทยเชฟไทยแล้ว จำนวน 7,882,867 ครั้ง
“สำหรับนักท่องเที่ยวขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัดเช่นกัน และคุมเข้มตนเองขั้นสูงสุด Universal Prevention ด้วยการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร สวมหน้ากากอนามัย และทับด้วยหน้ากากผ้า ใส่ให้แนบสนิทกับใบหน้า ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น ให้หลีกเสี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น ทำความสะอาดและฆ่าชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ หากมีความเสี่ยงให้แยกตัวจากผู้อื่น และตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ให้ตรวจช้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 3 – 5 วัน หรือเมื่อมีอาการ”.

TT Ads

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *